พุทธธรรม คือ ธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดง
ต้องเข้าใจก่อนว่า พระพุทธเจ้า ท่านเป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรานี่แหละ เพียงแต่ค้นพบสิ่งที่ไม่เคยมีคนพูดถึงมาก่อน ท่านจึงเอามาเผยแผ่สอนพวกเรา
ดังนั้น พระพุทธเจ้า ท่านไม่ใช่พระเจ้าเหมือนกับศาสนาอื่นนะ
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจเรื่องแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ก่อน
ทางวิทยาศาสตร์บอกไว้ว่า โมเดลหรือแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นความจริง คือต้องเป็นความจริงตลอด ไม่ว่าจะใส่อะไรลงไปก็ตาม
เอาง่ายๆ ถ้าจุดไฟ มันต้องร้อน ไฟไม่มีทางเย็น แบบนั้นเป็นต้น
มาถึงแบบจำลอง หรือโมเดลที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้
ท่านบอกว่า "ทุกสิ่งในโลกนี้ไม่เที่ยง"
ลองมาทำความเข้าใจประโยคนี้ดู
ว่าทุกอย่างในโลกนี้ หาความเที่ยงเจอรึเปล่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ มันไม่เที่ยงคือความจริงแท้แน่นอน
ดังนั้น เมื่อ "สิ่งนั้นมี สิ่งนี้จึงมี" "สิ่งนั้นไม่มี สิ่งนี้จริงไม่มี"
การกระทำอย่างหนึ่ง ย่อมส่งผลต่ออย่างอื่นเสมอ
ดังนั้นแล้ว โลกนี้ ทุกอย่างก็หมุนวนกันไป เหมือนฟันเฟืองที่เชื่อมหากัน มีเหตุ หรืออะไรเกิดขึ้นก็ตาม ย่อมมีผลตามมา เป็นความจริงแท้เสมอ
สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนเป็น คือความยึดติด
เรายึดติดกับทุกอย่าง ทั้งสิ่งภายนอก ยึดติดยี่ห้อ ยึดติดภาพลักษณ์ ยึดติดว่าทุกอย่างเป็นของเรา
หรือยึดติดว่า นี่คือเรา นี่คือเธอ นี่คือเขา
พระพุทธเจ้า ท่านจึงตรัสว่า "ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันไม่เที่ยง ทำไมคนเราจึงไปยึดติดมันล่ะ?"
ท่านพยายามสอนให้เรา ค่อยๆลด ละ เลิก ความยึดติดของเรา
นั่นล่ะคือทางดับทุกข์ที่แท้จริง
เพราะสิ่งที่เราพยายามยึดติด หรือถือมันไว้อยู่ วันนี้มันยังมี มันยังอยู่ มันยังให้เรายึดติด เกาะมันได้
พอพรุ่งนี้สิ่งที่เรายึดมันไว้ มันหายไป มันจากไป มันเสื่อมไป มันสลายไป เราก็เสียใจ
เมื่อเราเสียใจ เราก็ทุกข์
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำ คือเราต้องพยายาม ลด ละ เลิก การยึดติดสิ่งทั้งหลายซะ
ลองมาฟังตัวอย่างง่ายๆ ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แล้วถามตัวเองว่า เราทำมันได้รึเปล่า
มีอยู่วันหนึ่ง ถ้าจำได้ วันนั้นไปวัดใจ เพราะมีรองสังฆราช มาหาหลวงปู่
เราเห็นหลวงปู่ ท่านก็อายุมาก แต่ท่านมีพรรษาน้อยกว่า รองสังฆราชองค์นั้น
ในทางสงฆ์แล้ว จะไม่นับอายุ แต่จะดูที่พรรษาที่บวช คนที่พรรษาน้อยกว่า ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมากก็ตาม ต้องทำความเคารพ คนที่พรรษามากกว่า
ซึ่งตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติขึ้นมา เพื่อเป็นกุศโลบาย ให้พระสงฆ์เร่งบำเพ็ญเพียร เพราะถ้าพรรษามากกว่าแต่ยังบำเพ็ญเพียรไม่ถึงไหน ต้องให้คนที่พรรษาน้อยกว่ามาเคารพ ซึ่งสงฆ์ที่พรรษาน้อยกว่าท่านนั้น อาจจะก้าวหน้าไปกว่ามากแล้ว
ส่วนสงฆ์ที่พรรษาน้อยกว่า ถึงจะอายุเยอะกว่าสงฆ์ที่พรรษามากกว่า แต่ก็ต้องทำความเคารพ ก็เพื่อลดอัตตา (หรืออีโก้ในภาษาอังกฤษ) ลงนี่ล่ะ
วันนั้น ก็เห็นหลวงปู่ กราบท่านรองสังฆราชท่านนั้น อย่างงดงาม และไม่มีติดสงสัย ว่าท่านอาจจะก้าวหน้ากว่า หรืออายุมากกว่าก็ตาม
กลับมาสู่คำถาม
ถ้าให้คุณ กราบรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าเป็นสิบปี โดยไม่มีแม้แต่เสี้ยวของความติดใจสงสัย ว่าทำไมเราต้องทำความเคารพคนที่อายุน้อยกว่านั้น คุณจะทำได้รึเปล่า?
อันนั้นเป็นอะไรที่เหมือนจะง่าย แต่...บอกตามตรงว่าทำไม่ได้จริงๆ เพราะยังมีอัตตาอยู่มากจริงๆ
No comments:
Post a Comment